การเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น
ถาม เอกสารที่ต้องใช้ในการขอกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ตอบ เอกสารที่ต้องใช้ มีดังนี้
๑. แบบแสดงหน้าที่และความรับผิดชอบของตำแหน่ง ของพนักงานมหาวิทยาลัย ประเภทวิชาการ สายสนับสนุน ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะ และตำแหน่งประเภททั่วไป จำนวน ๑ ชุด
๒. แบบคำขอรับการกำหนดระดับตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะหรือเชี่ยวชาญเฉพาะหรือตำแหน่งประเภทวิชาการ หรือตำแหน่งประเภททั่วไป สายสนับสนุน จำนวน ๑ ชุด
๓. ผลงานทางวิชาชีพ อย่างละ ๑๐ ชุด
๔. หลักฐานการเผยแพร่ผลงาน จำนวน ๑ ชุด
๕. แบบประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี ย้อนหลัง ๓ ปี จำนวน ๑ ชุด
ถาม คณะกรรมการกลั่นกรองหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขอกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร
ตอบ เป็นคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขอกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นกับกรอบตำแหน่งซึ่งกำหนดตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล ว่าหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขอกำหนดระดับตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้นสอดคล้องกับกรอบตำแหน่งที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนเสนอคณะกรรมการประเมินเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นพิจารณา ซึ่งกรณีส่วนงาน คณะกรรมการประจำส่วนงานจะเป็นผู้ทำหน้าที่กลั่นกรองฯ ดังกล่าว ส่วนหน่วยงาน จะเป็นคณะกรรมการที่มีองค์ประกอบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
ถาม ผลงานที่ใช้ในการขอกำหนดระดับตำแหน่งชำนาญการ ประกอบด้วยอะไรบ้าง
ตอบ ผลงาน ๒ รายการ คือ คู่มือปฏิบัติงานหลัก (เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว) อย่างน้อย ๑ เล่ม และ ผลงานเชิงวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ (เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว) หรืองานวิจัยซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนางานในหน้าที่ อย่างน้อย ๑ เรื่อง (กรณีมิได้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว ต้องเป็นผู้ดำเนินการวิจัยหลัก และมีชื่อเป็นชื่อแรกในเจ้าของผลงานวิจัยนั้น และต้องมีผลงานวิจัยเรื่องอื่นเพิ่มอีกรวมแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ %)
ถาม การเผยแพร่ผลงานทางวิชาชีพของแต่ละผลงานกระทำโดยวิธีใด และต้องเผยแพร่กี่วิธี
ตอบ การเผยแพร่ผลงานทางวิชาชีพให้เลือกเผยแพร่โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
๑. คู่มือปฏิบัติงานหลัก
๑.๑ เผยแพร่ด้วยวิธีการพิมพ์ โดยโรงพิมพ์ หรือ สำนักพิมพ์ หรือ
๑.๒ จัดทำเป็นสำเนาเย็บเล่มและได้ส่งเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมกันไม่น้อยกว่า ๕ แห่ง
๒. ผลงานเชิงวิเคราะห์หรือสังเคราะห์
๒.๑ เผยแพร่ในรูปของบทความในวารสารทางวิชาการ หรือ
๒.๒ เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความทางวิชาการ หรือ
๒.๓ เผยแพร่ใน Proceedings หรือ
๒.๔ จัดทำเป็นสำเนาเย็บเล่มและได้ส่งเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมกันไม่น้อยกว่า ๕ แห่ง
๓. งานวิจัย
๓.๑ เผยแพร่ในรูปของบทความในวารสารทางวิชาการ หรือ
๓.๒ เผยแพร่ในหนังสือรวมบทความวิจัย หรือ
๓.๓ เผยแพร่ใน Proceedings หรือ
๓.๔ จัดทำเป็นรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ที่มีรายละเอียดและความยาวเป็นเล่มหนังสือ และได้ส่งเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัยรวมกันไม่น้อยกว่า ๕ แห่ง
๔. ผลงานลักษณะอื่น
๔.๑ เผยแพร่โดยมีการนำไปใช้ภายในหน่วยงานและหน่วยงานภายนอก หรือ
๔.๒ เผยแพร่โดยการจัดนิทรรศการหรือการจัดแสดง หรือ
๔.๓ เผยแพร่โดยวิธีการพิมพ์โดยโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ หรือ
๔.๔ จัดทำเป็นสำเนาเย็บเล่มและได้ส่งเผยแพร่ภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมกันไม่น้อยกว่า ๕ แห่ง